การรักษาแบบผิดๆ ของโรค Strongyloidiasis (พยาธิเส้นด้าย)
งานวิจัยนี้จะเป็นคุณหมอหรือประชาชนทั่วไปก็สามารถอ่านได้ค่ะ ว่าบางอย่างก็อาจโดนลืมนึกถึงได้แม้จะเป็นบุคคลากรทางการแพทย์เอง เพราะอาจจะไม่เคยพบเห็นเคสด้วยตัวเองเลย แต่โลกในยุคโลกาภิวัฒน์ นอกจากคนจะเคลื่อนที่ได้ โรคก็เคลื่อนที่ได้เช่นกัน รู้ไว้ดีกว่า ปลอดภัยตัวเอง
งานนี้เป็นงานวิจัยปี 2007 ชื่อเรื่อง Maltreatment of Strongyloides infection: Case series and worldwide physicians-in-training survey หรือการรักษาแบบผิดๆ ของโรค Strongyloidiasis ในวารสารของ NIH ถึงงานวิจัยจะเริ่มเก่าแล้ว แต่ก็ยังมีคุณค่าทางเนื้อหา
พยาธิเส้นด้ายหรือชื่อวิทยาศาสตร์ Strongyloides stercoralis ก่อให้เกิดโรคที่เรียกว่า Strongyloidiasis ติดเชื้อที่ทางเดินอาหารเป็นหลัก แต่หากมีการติดเชื้ออย่างหนักสามารถลุกลามไปที่ปอดได้
อ่านสรุปตรงนี้เลย
การติดเชื้อ Strongyloides stercoralis เป็นอีกสาเหตุการตายที่สำคัญของการติดเชื้อพยาธิทางเดินอาหารในประเทศที่พัฒนาแล้ว การติดเชื้ออย่างต่อเนื่อง (persistent infection), การเพิ่มขึ้นของการเดินทางในปัจจุบัน และยังมีความไม่คุ้นเคยของแพทย์ในที่ต้องเจอกับโรคนี้ ทำให้โรคนี้เป็นโรคอุบัติใหม่ที่ควรให้ความสำคัญ
งานวิจัยนี้จึงรวบรวมข้อมูลทางห้องปฏิบัติการที่ยืนยันการติดเชื้อนี้ ตั้งแต่ปี 1993-2002 และนำตัวอย่างเคสจำลอง ที่มาด้วยอาการหายใจเสียงวี้ดและมีค่าเม็ดเลือดขาวชนิด Eosinophil ขึ้นในผู้ป่วยที่เป็นชาวอพยพ มาสอบถามแพทย์ประจำบ้าน 363 คน จาก 15 สถาบันทั่วโลก(รวมถึงในไทยด้วย)ว่าคิดถึงโรคอะไรบ้าง
จากงานวิจัยพบว่าแพทย์ประจำบ้านจากอเมริกา นึกถึงโรคนี้น้อยมาก เพียง 9% เมื่อเทียบกับชาติอื่นๆอยู่ที่ 56% คือครึ่งๆ ตอบได้บ้างไม่ได้บ้าง อีกทั้งแพทย์ประจำบ้านจากอเมริกายังเลือกที่จะให้ยากลุ่ม steroid เพื่อให้ครอบคลุมการรักษานี้อีกด้วย (23%) และมี 41% ที่ไม่รู้ว่าพยาธิตัวใดที่ทำให้เกิดอาการทางปอด งานวิจัยชิ้นนี้จึงทำเพื่อเพิ่มการตระหนักรู้ในโรคหนอนพยาธิในกลุ่มคุณแพทย์ทั้งหลายให้มากขึ้น
อ่านงานวิจัยตัวเต็มต่อตรงนี้
Introduction (บทนำ)
Strongyloidiasis เป็นโรคที่พบบ่อยมาก ที่ทำให้การทุพพลภาพและเสียชีวิตได้ทั่วโลก โรคนี้มักพบในเขตร้อน (tropical and subtropical area) ไม่เฉพาะ Southeast Asia (SEA) แต่จาก Latin America หรือ Sub-Saharan Africa ก็พบมากเช่นกัน หรือแม้แต่ภูมิอากาศอบอุ่น อย่างประเทศสเปน หรือโซนเทือกเขา Appalachia ในฝั่งอเมริกาก็พบได้เช่นกัน การติดเชื้อปรสิตทางเดินอาหารมักพบในกลุ่มคนอพยพจากประเทศกำลังพัฒนา เมื่อสมัยปี 1979-1987 พบว่า คนที่อพยพมาจาก กัมพูชา,ลาว และไทย มีความเสี่ยงที่ติดเชื้อตัวนี้สูง และในปี 1993-1999 พบว่าผู้อพยพมาเมือง Minnesota จำนวน 17,000 คน มี 22% ที่ติดเชื้อปรสิตทางเดินอาหารและมี 2.4 % ที่ตรวจพบเชื้อ Strongyloides stercoralis
ในประเทศที่ไม่ได้เป็นแหล่งระบาด มักจะพบเด่นในผู้อพยพย้ายถิ่นฐาน ข้อมูลในปี 2000 พบว่า 11% ของประชากรใน U.S. เกิดนอกประเทศ และเมื่อมีการตรวจคัดกรองเชื้อ Strongyloides stercoralis อย่างรวมๆเจอ 4% ซึ่งในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว สาเหตุการตายจากพยาธิ คือการติดเชื้ออย่างหนัก (Hyperinfection) หรือ การติดเชื้อแบบกระจาย (Disseminated infection) ของเชื้อนี้ แม้การติดเชื้อแบบแพร่กระจายจะพบไม่บ่อยหนัก แต่คนที่ติดเชื้อแบคทีเรียกรัมลบในกระแสเลือดหรือผู้ที่มีอาการทางเดินหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน (Acute Respiratory Distress Syndrome: ARDS) ก็เป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นกลุ่มที่วินิจฉัยโรคผิดพลาดได้ แต่โดยปกติแล้วโรคนี้มักไม่มีอาการหรือมีอาการไม่จำเพาะ เช่น ทางผิวหนัง, ทางเดินอาหารหรือทางเดินหายใจ
ดังนั้นเพื่อลดความผิดพลาดที่จะเกิดขึ้นอีกในอนาคต ว่าที่คุณหมอทั้งหลาย ไม่ควรสร้างภาวะที่เรียกว่า โรคหมอทำ (Iatrogenic) จากความไม่รู้แล้วละเลยไป เราจึงต้องเข้าใจข้อมูลอาการของโรคติดเชื้อนี้ จึงเกิดงานวิจัยนี้ขึ้นมา
Method (วิธีการศึกษา)
งานวิจัยนี้แบ่งการศึกษา เป็น 2 ส่วน ดังนี้
1. ส่วนที่เก็บข้อมูลย้อนหลังในผู้ป่วยที่ตรวจพบเชื้อ Strongyloides stercoralis ตั้งแต่ปี 1993-2002 โดยได้จากฐานข้อมูลในรัฐ Minnesota ในศูนย์สุขภาพและโรงพยาบาลชุมชน โดยในนั้นก็ดูแลผู้อพยพย้ายถิ่นฐานด้วย โดยเก็บข้อมูลพื้นฐานของประชากร (Demographic data), วันที่เดินทางมาถึงสหรัฐอเมริกา, อาการ, ผลค่าเม็ดเลือด (Complete Blood Count : CBC), จำนวน Eosinophil ทั้งวันแรกที่ตรวจและวันที่ติดตาม, เชื้อปรสิตอื่นที่ตรวจพบร่วมด้วย, การรักษาที่ให้, การรักษาที่ไม่ประสพผลสำเร็จ จากการตรวจเชื้อขึ้นอยู่, การเกิดภาวะติดเชื้ออย่างหนัก และดูว่ามีการรักษาที่เหมาะสมหรือไม่
2. แบบสอบถามสำหรับแพทย์ประจำบ้านทั้ง 15 สถาบัน โดยสอบถามในหมอเด็กและหมออายุรกรรมจำนวน 363 ท่าน ซึ่งมาจาก U.S., Brazil, Singapore และประเทศไทย โดยจาก 9 สถาบันใน U.S. อยู่ในสถาบันที่มีการระบาดของเชื้อตัวนี้ แบบสอบถามให้ตัวอย่าง Case ผู้อพยพที่มาด้วยอาการหายใจเสียงวี้ดครั้งแรก (New onset of wheezing) โดยที่ไม่เคยเป็นหอบหืดมาก่อน และมีทางเดินหายใจล้มเหลว โดย Xray ปอดปกติ และมีค่า Eosinophil ขึ้นคิดเป็น 900 cellsμL (9%) เป็นต้น และแบบสอบถามแบบหลายตัวเลือก เช่นถามว่า
- ค่า Eosinophil เท่าไหร่ถึงเรียกว่าผิดปกติ ?
- เชื้อปรสิตตัวใดที่ทำให้มีอาการโรคปอดเรื้อรังได้ ?
- หนอนพยาธิตัวใดที่ทำให้เกิดการตายมากที่สุด ?
Result & Discussion (ผลการศึกษา & อภิปรายผล)
ตลอดระยะ 10 ปีที่เก็บข้อมูลนี้มี 151 คนที่ถูกวินิจฉัยว่าติดเชื้อ Strongyloides stercoralis โดยจาก 1,291 อุจจาระที่ขึ้นเชื้อปรสิตพบว่า Strongyloides stercoralis พบมากเป็นอันดับ 3 รองจากเชื้อ Giardia duodenalis และ พยาธิปากขอ (Hookworm) โดยตรวจพบจากคนที่มาจาก SEA เป็นส่วนมาก ระยะเวลาที่ตรวจเจอโรคนับจากวันที่ย้ายเข้ามาอยู่ใน U.S. เฉลี่ยประมาณ 4 ปีกว่า โดยมี 5 คนที่ติดเชื้อรุนแรง ซึ่ง 3 คนนั้นได้รับยา corticosteroid เนื่องจากคิดว่าเป็นโรคหอบหืด สุดท้ายมี 2 คนที่เสียชีวิต นอกจากนี้การจะวินิจฉัยมักล่าช้าในบุคคลากรทางการแพทย์ที่ไม่คุ้นเคยกับโรคนี้ ต่างกันจาก clinic ท่องเที่ยวและ clinic ที่ดูแลผู้อพยพ ซึ่งมีการตรวจหา รักษาและติดตามอย่างเหมาะสมในทุกเคส ในส่วนของคนที่ถูกวินิจฉัยผิดพลาดหรือล่าช้า ในบางรายเคยมีผลค่า Eosinophil สูงแล้ว แต่ไม่ได้รับการหาสาเหตุ ทำให้ล่าช้ามาถึง 10 ปีก็มีหรือแม้แต่เคสที่มีเชื้อขึ้นแล้วก็ยังได้รับการรักษาล่าช้าอยู่ดี ถ้าหากไม่ได้มีการ screening ในครั้งนี้ ระยะเวลาในความล่าช้าในการตรวจหาโรคเจออยู่ที่ประมาณ 5 ปี ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็มีการวินิจฉัยเชื้อ Strongyloides stercoralis ล่าช้าถึง 37 ปี ผู้ติดเชื้อ Strongyloidiasis มักเจอปรสิตตัวอื่นติดมาด้วย (56%) โดย 63% ของตัวอย่างที่ขึ้นเชื้อปรสิตทั้งหมดเป็นปรสิตก่อโรค โดยพยาธิปากขอ มักเป็นเชื้อที่ติดมาพร้อมกัน โดยปกติแล้วพยาธิปากขอมีอายุขัย 3-5 ปี แต่ว่ามีคน 10-20% ที่ตรวจเจอเชื้อหลังย้ายเข้าประเทศมาแล้วเกินอายุขัย สูงสุด 12 ปี ซึ่งอาจจะเกิดจากการกลับไปเยี่ยมบ้านเดิมแล้วกลับมาได้ (Visiting Friends and Relatives: VFR)
ค่า Eosinophil โดยเฉลี่ยของกลุ่มคนส่วนใหญ่ คือ 480 ถึง1130 cellsμL หรือเฉลี่ย 11.8 % แต่บางรายก็น้อยมาก เช่น 3 cellsμL เป็นต้น โดยในกลุ่มเด็กจะมีค่าสูงอย่างชัดเจน คนที่ตรวจเจอเชื้อหลายเชื้อ ไม่ได้มีค่า Eosinophil สูงกว่าพบเชื้อเดียว ค่า Sensitivity (ความไว : สัดส่วนของผลบวกแล้วเป็นโรคจริงๆ) ของคนที่มีค่า Eosinophil >500 cellsμL กับการตรวจเจอเชื้อมากกว่าหรือเท่ากับ 1 เชื้อขึ้นไป คิดเป็น 73% แต่ถ้าหากตัดลดค่า Eosinophil เป็นมากกว่า 400 cellsμL จะมี sensitivity เพิ่มขึ้น คิดเป็น 84% คือตรวจพบ 84% นั่นเอง ซึ่งเมื่อเทียบข้อมูลจาก CDC ที่เก็บในผู้อพยพก็มีค่าใกล้เคียงกัน อย่างไรก็ตาม มีงานวิจัยกล่าวว่า ในคนที่ติดเชื้อรุนแรงแล้วมีค่า Eosinophil < 400 cellsμL ผลลัพธ์สุดท้ายคือตาย 100%
การตรวจอุจจาระเพื่อวินิจฉัยหาตัวอ่อน (Larvae) ของ Strongyloides stercoralis เป็นวิธีที่ความไวต่ำ โดยพบเพียง 51% ของคนที่ติดเชื้อ (แต่ถ้าเจอเชื้อก็แปลว่ามีเชื้อจริงๆ ต่างจากการตรวจเลือด) โดยมีคน 16% ที่ไม่พบเชื้อเมื่อตรวจก่อนหน้านี้ถึง 3 ครั้ง แต่น่าสนใจที่ 46 % ที่ไม่พบเชื้อตัวนี้ กลับพบเชื้อตัวอื่นร่วมด้วย เป็นการบ่งบอกว่า มีประวัติการกินอาหารที่ปนเปื้อนอุจจาระเข้าไป (fecal oral contamination) คนที่ผลอุจจาระไม่ขึ้นเชื้อก่อนหน้ายังถูกวินิจฉัยผิดด้วยโรคต่างๆเช่น โรคลำไส้แปรปรวน ( Irritable Bowel Syndrome :IBS), ภาวะโซมาติก (somatization disorder) คือมีความกังวลเกี่ยวกับการเจ็บป่วยของร่างกายมากกว่าปกติ, หรือภาวะคันจากการที่คิดไปเอง (psychogenic pruritis) ซึ่งการตรวจด้วย Enzyme Immunoassay (ELISA) สำหรับค่า IgG มีความไว 95 % สามารถใช้ควบคู่กันเพื่อช่วยยืนยันการวินิจฉัย แต่แต่ละพื้นที่ก็มีค่า cut off ของ Lab ที่ไม่เท่ากัน (บริเวณที่มีการระบาดหนักก็อาจจะใช้ค่า cut off ที่สูงขึ้น)
อาการที่มามีความหลากหลาย โดยพบว่า 12% ไม่มีอาการแต่ได้จากการตรวจคัดกรองก่อนเข้ามาอยู่ อาการที่พบบ่อย ได้แก่ อาการทางท้อง (40%) หรืออาการทางปอด (22%)
จากการติดตามการรักษา ซึ่งมีการติดตาม 93 คน (62%) โดยใช้การตรวจอุจจาระหรือตรวจค่า CBC หรือส่งทั้งคู่พร้อมกัน พบว่าการรักษาล้มเหลวเกิดขึ้น 11 คน (7.6 %) โดยคนที่รักษาล้มเหลวจะยังตรวจพบเชื้อในอุจจาระอยู่หรือมีค่า Eosinophil ขึ้นสูงอยู่ ผู้ป่วยทุกรายที่ยังตรวจพบเชื้อในอุจจาระ มีค่า Eosinophil ขึ้นสูงอยู่ (> 400 cellsμL ทุกราย) ดังนั้นการติดตามด้วยการตรวจอุจจาระบางครั้งอาจจะทำได้ยากในชีวิตจริง บางคนก็ไม่สามารถเก็บอุจจาระให้ได้ อีกทั้งต้องใช้คนมาดูกล้อง ใช้เวลา การเจาะ CBC ในคนที่มีค่า Eosinophil ขึ้นสูง > 400 cellsμL แล้วพอหลังรักษาไปแล้ว Eosinophil กลับมาปกติ ก็เท่ากับการตรวจอุจจาระที่ให้ผลลบ 3 ครั้งติดกัน และนอกจากนี้แม้จะใช้ยาที่เหมาะสมก็ยังมีการรักษาที่ล้มเหลวได้ จากงานวิจัยอื่นพบว่า ยา Albendazole มีโอกาสล้มเหลว 14% ซึ่งมากกว่ายา Thaibendazole และ Ivermectin ; ยา Ivermectin ขนาด 200 mcg/kg ทางการกินและกินซ้ำที่ 2 อาทิตย์ มีประสิทธิภาพในการรักษาถึง 97% ข้อเสียคือ Ivermectin ไม่มีประสิทธิภาพต่อ Hookworm ซึ่งเป็นเชื้อที่มักติดมาพร้อมกัน แต่ Thaibendazole มีประสิทธิภาพต่อ Hookworm กระนั้นข้อเสียของ Thaibendazole คือมีอาการคลื่นไส้เยอะ (>50%)
ความเห็นผู้อ่าน
อ้างอิง : Boulware DR, Stauffer WM, Hendel-Paterson BR, Rocha JL, Seet RC, Summer AP, Nield LS, Supparatpinyo K, Chaiwarith R, Walker PF. Maltreatment of Strongyloides infection: case series and worldwide physicians-in-training survey. Am J Med. 2007 Jun;120(6):545.e1-8. doi: 10.1016/j.amjmed.2006.05.072. PMID: 17524758; PMCID: PMC1950578.
Comments
Post a Comment