เที่ยวหมู่บ้านแมวที่ไต้หวัน (Houtong cat village) เสี่ยงติดเชื้อพิษสุนัขบ้าหรือไม่ ?

    สวัสดีทุกท่านที่เข้ามาอ่านบทความนี้นะคะ ช่วงนี้เห็นคนไทยไปเที่ยวไต้หวันเยอะมาก การันตีเลยว่าใน 1 โบกี้มีคนไทยไปแล้วครึ่งหนึ่ง หมอเองก็เพิ่งไปมาเมื่อต้นเดือนมิถุนายนเองค่ะ สิ่งที่น่าสนใจแม้จะได้ลงไปแค่ 15 นาทีแบบทัวร์นกขมิ้นในสายตาแพทย์ก็คือ หมู่บ้านแมวที่ชื่อว่า โหวตง ค่ะ
    ประวัติศาสตร์เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย ก็คือ เมื่อปี 1900 เป็นเหมืองเก่าที่มีผู้คนเข้ามาทำงานมาก มีคนงาน 6,000 คน จากนั้นช่วงปี 1990 ก็เริ่มยุติไป วัยรุ่นก็ออกจากเมืองไปหาโอกาสใหม่ที่เมืองอื่น ทำให้เหลือเพียง 100 คนในเมือง กลายเป็นเหมืองร้างให้น้องมะเหมียวได้มาอาศัยอยู่แทน

จากข้อมูลปี 2019 กล่าวว่ามีแมว 286 ตัวที่ลงทะเบียนแล้ว ซึ่งเพิ่มขึ้นมา 50 ตัวจากปีที่แล้ว ยังอาจมีแมวมากกว่านี้หรืออาจจะเป็นแหล่งดึงดูดให้คนมาทิ้งแมวมากขึ้นด้วยก็ได้ เพราะมีอาสาสมัครช่วยดูแล อันนี้น่าเป็นห่วง 😱

ภาพด้านซ้ายเป็นภาพที่หมอไปเที่ยวมาเองค่ะ จะเห็นว่าน้องแมวจะหูแหว่งด้วยข้างหนึ่ง เป็นการบอกว่าทำหมัน ฉีดวัคซีนแล้ว และเพื่อเช็คน้องด้วยค่า



    จากคำถามที่ตั้งไว้ 'แล้วเราจะติดเชื้อพิษสุนัขบ้าหรือไม่ ????'  หมอขอตอบว่า ไม่น่าแต่ก็ไม่แน่ ค่ะ 
อาจจะเคยได้ยินว่าบางประเทศโดนหมาแมวกัดไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนใช่ไหมคะ สำหรับไต้หวันเองล่ะ ??
    จากข้อมูลส่วนนี้เอง ในปี 2018  ซึ่งเป็นปีที่วัคซีนขาดแคลน ได้มีการออกมาแนะนำว่า คนที่ถูกแมวหรือหมา ซึ่งอาจจะเป็นจรจัด ไม่จำเป็นต้องได้รับวัคซีน เนื่องจากเป็นประเทศ  dog rabiesfree แต่หากถูกสัตว์ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง อันได้แก่ หมาหริ่ง, อีเห็นเครือ หรือหนูผี ควรได้รับวัคซีน และให้คำแนะนำในการดูแลตนเองดังนี้
1.ใจเย็น และสังเกตลักษณะของสัตว์ที่มากัดเรา
2.ล้างแผลด้วยสบู่ โดยให้น้ำปริมาณมากไหลผ่านแผล 15 นาที จากนั้นทำแผลด้วย 70% alcohol หรือ Povidone Iodine
3.ไปพบแพทย์เพื่อประเมินแผลและความจำเป็นในการฉีดวัคซีน เบอร์กรมควบคุมโรคไต้หวัน 1922
4.สังเกตุ กักกันสัตว์ไว้ 10 วัน หากทำได้ แต่ถ้าดูแล้วสัตว์จะทำร้ายมากกว่า ก็ไม่ต้องทำ
                                                                    
                                                                    💮-------------------💮
    สำหรับผู้ที่สนใจเรื่องราวเชิงลึกของเรื่องโรคพิษสุนัขบ้า (Rabies) มาอ่านต่อได้เลย
จะเห็นว่าหมอ Highlight ข้อความข้างบนไว้ เผื่อมีใครสงสัยว่า ทำไมตอบคลุมเครืออย่างนี้เล่า หรือ อะไรคือหมาหริ่ง มันเป็นเหมือนหมาทั่วไปหรือไม่ บทความนี้จะให้คำตอบแก่ท่านอย่างแน่นอน 😀

มาเริ่มที่สถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าในไต้หวันกันก่อนเลยค่ะ

    ไต้หวันเริ่มมีการรายงานโรคพิษสุนัขบ้าตั้งแต่สมัยที่ญี่ปุ่นปกครองไต้หวัน ในช่วงปี 1895-1945 โดยช่วงปี 1900 มีรายงานอย่างน้อย 11 ราย รวมทั้งเกาะตอนเหนือและตอนใต้ และหลังจบสงครามโลกครั้งที่สอง (ปี 1945) เพียง 2 ปี ก็มีผู้ป่วยนำเข้าเชื้อที่มาจากประเทศจีน จากนั้นก็เริ่มมีการระบาดเป็นช่วงๆ ในเมืองไทเปเอง มีการรายงานเคสครั้งแรกในปี 1948 และการระบาดเริ่มหนักขึ้นในปี 1951 และ 1952 มีรายงานการระบาด 238 และ 102 รายตามลำดับ จึงต้องมีมาตรการการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุม จนกระทั่งปี 1961 องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศว่า ประเทศไต้หวัน เป็น "Rabies free country"
    ตั้งแต่ปี 1961 ก็ไม่มีการรายงานโรคพิษสุนัขบ้าในคนจนถึงปัจจุบัน แม้จะมีเคสที่ป่วยเป็นโรคพิษสุนัขบ้า แต่ล้วนนำเข้ามาจากต่างประเทศทั้งสิ้น ทั้งหมด 3 ราย คือ จีน เมื่อปี 2002 และ 2012 และรายที่สามจากประเทศฟิลิปปินส์เมื่อปี 2013 ทั้งสามเสียชีวิต
    กระนั้นถึงไม่มีการรายงานโรคในคน ความสงบนิ่งกว่า 52 ปีที่ผ่านมาจนกระทั่งปี 2013 ก็มีการระบาดของโรค Rabies ในหมาหริ่ง (Formosan ferret badger) ที่หมู่บ้าน Formosan ที่เมืองหนานโถว (Nantou) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวที่บางท่านอาจเคยได้ไปสัมผัสก็เป็นได้ และในปี 2017 เจ้าหมาหริ่งก็ไปอาละวาดที่ห้องโถงของบริษัท ในเมืองไถหนาน ทำให้มีผู้โดนกัดถึง 39 ราย มันร้ายจริงๆ 😡 ดีที่ไม่มีใครเป็นอะไร
    จากการระบาดของ Rabies ในหมาหริ่งในปี 2013 นั้น ทำให้รัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ กระตือรือร้นในการควบคุมอย่างมาก มีนโยบาย "2 No 1 Yes" คือ ไม่เข้าใกล้สัตว์ป่า ไม่ทิ้งสัตว์เลี้ยง และเจ้าของต้องพาสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีน ให้ได้ Coverage > 70% ถึงจะควบคุมโรคได้ และมีการจัดตั้งระบบเฝ้าระวัง มีการนำตัวอย่างของสัตว์ที่ไม่ว่า จะโดนทับบนถนน แบนแต๊ดแต๋, สัตว์ที่ดูคลุ้มคลั่ง และสัตว์ที่ตาย มาตรวจหาเชื้อ ทำให้ไต้หวันเป็นประเทศที่แข็งแกร่ง ในการควบคุมและตรวจหาเชื้อได้อย่างทันท่วงที จนในปี 2019 ไต้หวันก็ได้ประกาศตนเป็นผู้นำด้านการป้องกันโรคนี้ ทางไต้หวันมีห้อง Lab ที่สามารถวินิจฉัยได้อย่างทันท่วงที พร้อมประสานมือกับทางฝรั่งเศส ANSES Nancy Laboratory for Rabies and Wildlife จัดตั้งโครงการ "OIE Twinning Project" ขึ้นมาอย่างจริงจัง
    การที่มีเครื่องมือที่ทันสมัย เข้าถึงง่าย ตรวจได้เร็ว ก็ทำให้พบการกระจายตัวของเชื้อในหมาหริ่งจำนวนมาก และล่าสุดนี้เอง เดือน มีนาคม 2023 ก็มีรายงานว่าพบเชื้อหมาหริ่งใน Miaoli County เป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นนัยย์ว่าเชื้อได้ข้ามผ่านจุดแม่น้ำ Daan ไปแล้ว 😱😱
    และอีกอย่างข้อมูลปี 2018 บอกไว้ว่าที่ไต้หวันตอนนี้มีสุนัขจรจัดมากกว่า 155,000 ตัว มากขึ้น 6.19% เมื่อเทียบกับปีก่อน และย้อนกลับไปที่ปี 2010 มีสุนัขจรจัด 86,224 ตัว แม้จะถูกรายงานว่าไม่มีเชื้อในสุนัขแล้ว แต่ถ้ามันไปยุ่งกับเจ้าหมาหริ่งที่ติดเชื้อแล้วล่ะก็ เรื่องเปลี่ยนแน่ๆ

เส้นทางผจญภัยของเจ้าหมาหริ่ง

        ก่อนจะไปถึงการผจญภัยขอแนะนำให้รู้จักเจ้าหมาหริ่งอย่างเป็นทางการก่อนจ้า หมาหริ่ง เป็นสัตว์ตระกูลเดียวกับเพียงพอน (คนละตัววงศ์กับพังพอนเลย) อาศัยอยู่ใน เขตป่าฝน ประเทศเขตร้อน (Tropical rainforest) โดยเฉพาะ South East Asia อันได้แก่ประเทศ จีนไต้,ไหหนาน,ตอนเหนือของเวียดนาม,ไทย,พม่า,อินโดนีเซีย,บังคลาเทศ,ลาว และตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย มันเป็นสัตว์กินไม่เลือก (omnivorous) แต่ชอบกินไส้เดือน,แมลง และเบอร์รี่ ตัวมันเองเป็นสัตว์หนักประมาณ 1 กิโลกรัม มีฟันเล็ก ไม่ค่อยมีแรงกัด ทำให้มันเป็นผู้ล่าที่อ่อนแอ ใช้ชีวิตกลางคืน มันอาศัยอยู่ตามภูเขาในป่า ไม่ค่อยอยู่ที่เมือง แต่ถ้าหากอยู่ ก็อาจจะโดนคนหรือหมาแมวฆ่าไปเสียก่อน ที่จะมาเดินเล่นอย่างสบายใจ และอีกอย่างในเมือง ดินค่อนข้างแห้ง ไม่เหมาะกับให้ไส้เดือน ของโปรดอยู่น่ะสิ ไม่อยู่ดีกว่า 
    แม้จะกัดไม่เก่ง แต่ก็ไปมีเรื่องกับคนอื่นไปทั่วนะ ที่เจอบ่อยๆก็ อีเห็นเครือนี่แหละ เพราะเขาใช้ชีวิตกลางคืน คงไปเที่ยวด้วยกันท่าไหนมาติดเชื้อมาล่ะเนี่ย 😭 หมาไม้,หนูผีเอง ก็เอาด้วย แต่หมาไม้อาจจะเจอน้อยเพราะเค้าหากินกลางวัน นอกจากนี้เจ้าหมาหริ่ง ยังเคยไปมีเรื่องกับหมาน้อยเพิ่งเกิดได้ 6 สัปดาห์อีกนะ 
    มันใกล้ตัวเราไปทุกที่แล้วเจ้านี่ ถ้าเห็นเส้นทางผจญภัยของมันแล้วล่ะก็ จะเห็นว่า มันเริ่มคลืบคลานมาเรื่อยๆแล้ว 😱😱
 


    โอ้วววว นี่มันอะไรกันเนี่ยยยย เห็นแล้วปวดหัว ใจเย็นก่อนนะคะ เดี๋ยวหมอช่วยค่ะ 😂
มาเริ่มที่รูปแรกทางซ้ายก่อนเลยนะคะ
เป็นรูปที่บอกเขตอำเภอ (County/City) ที่พบเชื้อ Rabies ในหมาหริ่ง จะเห็นว่าอยู่ตอนล่างใต้แม่น้ำ Daan และแม่น้ำ Heping ซึ่งเชื้อที่พบก็มีความแตกต่างทางยีน จึงแยกเป็นสองฝั่งซ้ายขวา โดยมีแนวเขากึ่งกลางเป็นตัวแบ่ง มีทั้งหมด 9 เขตอำเภอ บอกเลยว่ามีแค่ 2 ประเทศที่มีการระบาดของ Rabies ในหมาหริ่ง คือไต้หวันกับพี่จีน ซึ่งพี่จีนเองก็ระบาดที่เมือง Zhejiang, Jiangxi และ Anhui (ทางตะวันออกเฉียงใต้ของจีน) ดูๆแล้วก็ไม่ไกลจากไต้หวัน เดี๋ยว แนบภาพให้ดูตอนท้ายสุดเลยค่ะ
    รูปกลาง
เมื่อแบ่งย่อยเป็น Township หรือจะเรียกตำบลก็ได้ ก็จะเห็นพื้นที่สีฟ้าเป็น Rabies free area คือมี 7 เขตอำเภอ โดยจะเห็นก้อนสีฟ้าก้อนหนึ่งที่อยู่ใต้แม่น้ำ Daan แยกออกมา ทำไมถึงเป็นเมืองที่รอดได้เล่า ??
จากงานวิจัยกล่าวว่า เมือง Changhua (อยากจะเรียกว่า ช่างหัว จริงๆ 😂 )ที่พี่แกรอด เพราะดันมีแม่น้ำ Dadu คอยกั้น และก็ฝั่งขวาก็มีที่ราบสูงมากั้นอีก คล้ายเป็นพื้นที่ปิดไปเลย รูปนี้เค้าละเอียดออกมาเป็นตำบลเลยที่สุ่มเก็บสิ่งส่งตรวจเจอ เค้าพบว่า แม้ว่า จำนวนที่ติดเชื้อต่อเขตอำเภอ จะเท่าๆเดิม แต่ในระดับตำบลมันเพิ่ม scale ไปหลายตำบลมากขึ้น อาจเพราะมันมีชีวิตรอดได้น้อยในเมืองก็ได้ มันเลยออกมาแต่ออกมาได้ไม่นานก็ตาย แต่ก็ออกมาเรื่อยๆ ที่สำคัญเค้าพบว่า หมาหริ่งที่อยู่ในพื้นที่เมืองแบบภูเขา (ความสูง > 200 m เหนือระดับน้ำทะเล) มีความชุกของการติดเชื้อต่างกันอย่างมากเมื่อเทียบกับหมาหริ่งติดเชื้อที่พบในเมือง (คิดเป็นเปอร์เซ็นก็คือ 99% เลยค่ะที่พบ)
 รูปสุดท้าย
ในปี 2016  ที่หมอทำเหรียญรางวัลไว้คือที่ที่พบ หมาหริ่ง ระบาดครั้งแรกในปี 2013 ค่ะ แล้วปี 2018 พบรายงานในค้างคาวที่เมือง Taipei และล่าสุดปี 2023 ที่บอกว่ามันเริ่มข้ามเหนือแม่น้ำ Daan ไปแล้ว ทางไต้หวันเค้าก็กำลังเตรียมรับมือเรื่องนี้อย่างเข้มข้นอยู่ค่ะ 


โอกาสที่คนจะถูกหมาหริ่งกัดล่ะเป็นอย่างไร?

    ไม่ได้มีตัวเลขบอกนะคะ แต่ก็ขึ้นอยู่กับพื้นที่ที่เราไปด้วย สำหรับนักท่องเที่ยว ก็ระวังหากไปในพื้นที่ป่าเขาในเมืองที่มีรายงาน ตอนนี้เรามีความรู้ละว่าหน้าตามันเป็นยังไง จะได้สังเกตุทันท่วงที มีงานวิจัยศึกษาว่าคนมีโอกาสที่จะถูกเจ้าหมาหริ่งกัด เวลาที่ไม่มีน้องสุนัขอยู่รอบๆตัว อย่างมีนัยยะสำคัญ โอ้โห แสดงว่าน้องสุนัขเราคือผู้พิทักษ์หมาหริ่งตัวจริง ดังนั้นกุญแจหลักเลย ต้องให้น้องสุนัขของเจ้าของมีภูมิ ได้ฉีดวัคซีนทุกปี จะป้องกันได้ ซึ่งไต้หวันก็มีความพยายามในจุดนี้อยู่ แต่ก็ยังมีอีกด้านมืด คือคนที่ชอบเอาสัตว์ไปปล่อยไว้ ไม่ว่าจะเป็นคนแก่ที่เลี้ยงสัตว์ไม่ไหวแล้ว หรือปล่อยด้วยเหตุผลง่ายๆเพียงมันไม่น่ารักเหมือนตอนยังเล็กแล้วก็มี อันนี้ทั้งสงสารน้องหมาแมว และเจ้าหน้าที่เลยค่ะ

    สุดท้ายนี้หมออยากจะบอกว่าเข้าใจทาสหมาทาสแมวทุกท่านค่ะ ก็เล่นได้ แต่เล่นอย่างระมัดระวัง เพราะการสัมผัสสัตว์หรือโดนสัตว์เลียแล้วตามแนวทางของ WHO ไม่จำเป็นต้องให้วัคซีนค่ะ แต่ถ้าโดนกัดหรือข่วนเข้าให้แล้ว รีบปฏิบัติตามที่บอกไว้ด้านบนค่ะ สำหรับผู้ที่ไม่เคยฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้ามาก่อน จำเป็นต้องฉีดทั้งหมด 5 เข็ม ในวันที่ 0 (วันแรกที่โดนกัดหรือมาพบแพทย์) วันที่ 3,7,14,28 นับจากวันที่ 0 ทั้งนี้หากต้องกลับไทยแล้วก็มาฉีดต่อที่ไทยได้ค่ะ เก็บสมุดวัคซีนที่ทางไต้หวันให้หรือถามยี่ห้อวัคซีนไว้จะเป็นประโยชน์มากค่ะ และหากมีการฉีดสิ่งที่เรียก ภูมิด่วน หรือ Immunoglobulin รอบๆแผล ก็อย่าลืมแจ้งแพทย์ด้วยนะคะ หวังว่าบทความนี้จะมีประโยชน์ต่อทุกท่านที่สนใจนะคะ สามารถสอบถามและแชร์เรื่องราวต่างๆ ได้ในคอมเมนต์เลยค่ะ  😍😍

บทความจาก TravelwithDoc โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการเที่ยว

References

[1] https://edition.cnn.com/travel/article/taiwan-houtong-cat-village/index.html

[2] https://www.cdc.gov.tw/

[3] https://www.taipeitimes.com/News/editorials/archives/2022/07/19/2003781996

[4] https://www.bangkokbiznews.com/pr-news/biz2u/biz2u_PR/267366

[5] https://th.rti.org.tw/news/view/id/68404

[6] https://www.taipeitimes.com/News/taiwan/archives/2018/07/28/2003697532

[7] https://focustaiwan.tw/society/202303090022 

[8] Zhang S, Tang Q, Wu X, Liu Y, Zhang F, Rupprecht CE, Hu R. Rabies in ferret badgers, southeastern China. Emerg Infect Dis. 2009 Jun.

[9] Rabid Ferret-Badgers in Taiwan. JAMA, 311(16), 1604–. (2014)

[10] Th, Shih, Ryan M Wallace, Turner Wj, Wu Hy, Satoshi Inoue, Liu Jn, Weng Cj and Fei Cy. “The Progression of Taiwan Ferret Badger Rabies from July 2013 to December 2016.” (2017).

[11] Lan, Yu-Ching; Wen, Tzai-Hung; Chang, Chao-chin; Liu, Hsin-Fu; Lee, Pei-Fen; Huang, Chung-Yuan; Chomel, Bruno B.; Chen, Yi-Ming A. (2017). Indigenous Wildlife Rabies in Taiwan: Ferret Badgers, a Long Term Terrestrial Reservoir. BioMed Research International, 2017(), 1–6.

[12] Shih TH, Chiang JT, Wu HY, Inoue S, Tsai CT, Kuo SC, Yang CY, Fei CY. Human Exposure to Ferret Badger Rabies in Taiwan. Int J Environ Res Public Health. 2018 Jun 27;15(7):1347.

[13] Zhao JH, Zhao LF, Liu F, Jiang HY, Yang JL. Ferret badger rabies in Zhejiang, Jiangxi and Taiwan, China. Arch Virol. 2019 Feb;164(2):579-584.

[14] Tu, W.-J., Tung, K.-C., Hsu, T.-H. ,Yang, C.-Y., Lin, C.-C., Lai, C.-H., & Fei, C.-Y. (2023). Cross-species infections of Formosan ferret-badger (Melogale moschata subaurantiaca) rabies from 2013 to 2021 in Taiwan. The Thai Journal of Veterinary Medicine, 52(4), 781–787.





Comments

Popular posts from this blog

การรักษาแบบผิดๆ ของโรค Strongyloidiasis (พยาธิเส้นด้าย)

อัตราการรักษาที่ต่ำของโรคปรสิตในประเทศสหรัฐอเมริกา